บทความสารคดี : เสือพูมา





          เสือพูมามีชื่อเรียกหลากหลายมาก เช่น แคตาเมานต์ สิงโตภูเขา คูการ์ เป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จมากในฐานะของผู้ล่า ส่วนหนึ่งอาจมาจากความสามารถในการปรับตัว จึงรอดพ้นการสูญพันธุ์ของสัตว์ตระกูลแมวครั้งใหญ่ที่เกิดช่วงท้ายของยุคไพลโตซีนในอเมริกาเหนือมาได้

ลักษณะทั่วไป
แม้จะดูตัวใหญ่อย่างเสือ แต่เชื่อว่าเสือพูมามีสายเลือดใกล้ชิดแมวมากกว่า ไม่มีกระดูกไฮออยด์ยืดหยุ่นและไม่มีสายเสียงขนาดใหญ่ดังที่มีในสัตว์ในสกุล Panthera แม้พูมาจะคำรามไม่ได้ แต่ก็เปล่งเสียงได้หลายแบบ และทั้งตัวผู้กับตัวเมียก็มีเสียงต่างกัน


เสือพูมาตัวผู้หนักหนักเฉลี่ย 53-72 กิโลกรัม เคยพบตัวที่ใหญ่เป็นพิเศษ หนักถึง 120 กิโลกรัม ตัวเมียน้ำหนักเฉลี่ย 34-48 กิโลกรัม พูมาที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมักตัวเล็กกว่าตัวที่อยู่ใกล้ขั้วโลก มีอุ้งตีนใหญ่ ขาหลังยาว เทียบสัดส่วนต่อขาหน้าแล้ว พูมามีขาหลังยาวที่สุดในบรรดาเสือและแมวทั้งหมด ไม่มีลวดลาย มีสีสันหลากหลายมาก ตั้งแต่สีเนื้ออ่อน น้ำตาลแดง จนถึงสีเทาอ่อน แม้แต่พี่น้องในครอกเดียวกันก็อาจมีสีต่างกัน ขนสั้นและหยาบ บริเวณแนวสันหลังสีเข้มกว่าบริเวณอื่นเล็กน้อย บริเวณหน้าอก หน้าท้อง และด้านในของขาทั้งสี่สีซีด ต้นขาหน้าอาจมีเส้นแนวนอนจาง ๆ มีวงรอบปากสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ พื้นที่รอบปากภายในวงรอบปากสีขาวหรือซีด หัวค่อนข้างเล็ก ม่านตามีสีหลายแบบตั้งแต่เหลืองอมเขียวจนถึงน้ำตาลอมเหลือง หูสั้นกลม หลังใบหูสีเทาหรือดำ ขาหน้าอุ้งตีนกว้าง หางยาวเรียว สีเข้มขึ้นไปตามความยาวหางจนถึงปลายหาง เสือพูมาที่พบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้มีขนาดเล็กกว่าที่พบในอเมริกาเหนือ และพวกที่อยู่ทางเหนือและตามภูเขาสูงมักมีขนยาวกว่า
พูมาดำแบบเมลานิซึมพบได้บ่อย พูมาเผือกมีบ้างแต่ไม่บ่อยนัก ลูกพูมามีลายจุดทั้งตัวและตาสีฟ้า

พูมาดำแบบเมานิซึม



ถิ่นที่อยู่อาศัยและเขตกระจายพันธุ์

เสือพูมามีเขตกระจายพันธุ์ครอบคลุมตามแนวละติจูดกว้างที่สุดในบรรดาสัตว์ตระกูลเสือและแมวทั้งหมด พบได้ตั้งแต่บริติชคอลอมเบียในแคนาดาจนถึงปลายล่างสุดของทวีปอเมริกาใต้ อาศัยได้ในพื้นที่หลายชนิด ตั้งแต่ป่าพืชเมล็ดเปลือย ป่าเบญจพรรณ ป่าเขตร้อน ป่าบึง ทุ่งหญ้า พื้นที่กึ่งทะเลทราย ทางระดับความสูงพบตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 5,800 เมตร
ในอเมริกาเหนือ ความหนาแน่นของเสือพูมาอยู่ที่ประมาณ 0.5-4.9 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ส่วนในอเมริกาใต้มีความหนาแน่นสูงกว่า เช่นในพาทาโกเนีย มีความหนาแน่นเฉลี่ย 7 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ที่เป็นฟาร์มเปิดในแพนทานัลของบราซิลมีความหนาแน่นประมาณ 4.4 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ส่วนในพื้นที่ป่าเขตร้อนยังไม่เคยมีการประเมินความหนาแน่นประชากร
พื้นที่หากินของพูมาในอเมริกาเหนือเฉลี่ยกว้างตั้งแต่ 32-1,031 ตารางกิโลเมตร ตัวเมียมักมีพื้นที่หากินน้อยกว่า 100 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวผู้มีพื้นที่หากินกว้างหลายร้อยตารางกิโลเมตรและครอบคลุมพื้นที่ของตัวเมียหลายตัว พื้นที่ของตัวเมียมักซ้อนเหลื่อมกันแต่พื้นที่ของตัวผู้ด้วยกันมักไม่ค่อยซ้อนเหลื่อมกันมากนัก อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งในเทือกเขาดิอาโบลในแคลิฟอร์เนียกลับเป็นไปในทางตรงข้าม นั่นคือพื้นที่ตัวผู้ซ้อนเหลื่อมกันส่วนพื้นที่ของตัวเมียไม่ซ้อนเหลื่อมกัน เสือพูมาที่มีพื้นที่หากินกว้างที่สุดจะเป็นพวกที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง พูมาที่อยู่ในเทือกเขาหิมะมักย้ายพื้นที่หากินลงที่ต่ำในช่วงฤดูร้อนตามการย้ายถิ่นของสัตว์กีบด้วย


แหล่งที่มา http://www.verdantplanet.org

Comments

Popular posts from this blog

บทความวิชาการ : กระบวนการสังเคราะห์แสง

วิจารณ์ภาพยนตร์ A Clockwork Orange